ความสุขวัยเด็กมักเกิดขึ้นได้จากการกระทำเล็ก ๆ อย่างการได้วิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ปีนป่าย และสนุกสนานไปกับของเล่นตรงหน้าโดยไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก กิจกรรมเหล่านี้กระตุ้นให้สมองหลั่งสาร ‘เอ็นดอร์ฟิน’ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘สารแห่งความสุข’ ซึ่งเกิดจากการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายสบายตัว “สนามเด็กเล่น” จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่สามารถสร้างความสุขที่ว่านี้ให้กับผู้คน โดยเฉพาะบรรดา “เด็ก ๆ” ได้เป็นอย่างดี
เมื่อมองย้อนกลับไปก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก ชวนให้คิดว่าตอนนั้นน่าจะเล่นให้เยอะมากกว่านี้ เพราะยิ่งโตขึ้น การมีกิจกรรมที่ต้องออกแรงก็ลดน้อยลง ประกอบกับความรับผิดชอบต่าง ๆ ของชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แทบไม่เหลือเวลาว่างสำหรับกิจกรรมผ่อนคลาย และเป็นเหตุผลให้วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนโหยหามากที่สุด
จริงจังกับเรื่องเล่น ๆ
สำหรับเด็ก ๆ เรื่องเล่นเป็นเรื่องใหญ่แทบจะที่สุดสำหรับพวกเขา การมี “พื้นที่สาธารณะ” อย่าง “สนามเด็กเล่น” จึงเป็นมากกว่าพื้นที่สาธารณะทั่วไป แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทั้งเด็กและผู้ปกครอง ให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันจากสนามเด็กเล่นได้อย่างมากมาย การจริงจังกับเรื่องเล่น ๆ หลายครั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้อย่างมหาศาลในอนาคต
ในความจริงแล้ว ‘Playground’ หรือ ‘สนามเด็กเล่น’ มีความสำคัญต่อเด็กเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วสนามเด็กเล่นมักจะตั้งอยู่กลางแจ้งเพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับทางกฎหมายที่ให้ความสำคัญต่อพื้นที่สำหรับเด็กที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะและมีความเสมอภาค เพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งในด้านของความคิดสร้างสรรค์ การใช้ชีวิตกับโลกภายนอก หรือแม้แต่การเอาตัวรอดเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเอง
สนามเด็กเล่นแห่งแรกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1859 ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แต่ในความจริงแล้วแนวคิดในการสร้างสนามเด็กเล่นนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี เพื่อใช้เป็นพื้นที่สอนให้เด็ก ๆ รู้จักเล่นอย่างปลอดภัยและเล่นอย่างยุติธรรม เคารพซึ่งกันและกัน และไม่ทำร้ายกัน
ในเวลาต่อมา สนามเด็กเล่นจึงกลายเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับเด็ก ๆ ที่จะได้เล่น ออกกำลังกาย และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น ๆ และในตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา สนามเด็กเล่นก็ได้ผ่านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องเข้ากับวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเยาวชนของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้การทำกิจกรรมที่ได้ใช้ร่างกายทางกายของเด็ก ๆ ยังจะส่งผลต่อทักษะการเคลื่อนไหว เพิ่มสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ ช่วยให้เกิดพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ไปจนถึงทักษะทางด้านสังคมและการควบคุมอารมณ์ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงวัยเด็กที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดีทางสุขภาพและอารมณ์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นฐานที่ดีและของสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเมื่อเติบโตขึ้นในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
เปิดสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ควรรู้จักทั่วโลก
แม้ว่าสนามเด็กเล่นจะดูเหมือนไม่ใช่สถานที่ที่สำคัญอะไรมากนักสำหรับวัยผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้ว ในแต่ละประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สนามเด็กเล่นให้ได้มาตรฐานและช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเยาวชนในชาติอย่างมากทีเดียว ขนาดที่ว่าหลายประเทศมีการว่าจ้างนักออกแบบระดับคุณภาพ เข้ามาทำงานร่วมกับจิตแพทย์ และนักพัฒนาพฤติกรรมเด็กจำนวนมาก ในการรังสรรค์สนามเด็กเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ ของพวกเขา
ถึงตรงนี้ ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะเลิกมองว่าการเล่นเป็นเรื่องไร้สาระบ้างแล้ว โดยเฉพาะเมื่อหันไปมองเยาวชนรอบตัวที่มักจะถูกหล่อหลอมโดยค่านิยมการศึกษาที่ว่า ยิ่งเรียนเยอะ ยิ่งขยัน ก็จะยิ่งเก่ง เพราะประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกที่นักเรียนมีชั่วโมงเรียนสูงที่สุด แต่ผลลัพธ์ในการจัดอันดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประเทศไทยกลับตกอยู่ในอันดับท้าย ๆ และหากเทียบกับประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในลำดับต้น ๆ จะเห็นได้ชัดว่าวันวันหนึ่งนักเรียนของเขามีชั่วโมงเรียนไม่ถึง 6 ชั่วโมง แต่เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาที่เหลือไปกับการโฟกัสสิ่งที่ตนเองสนใจ และสนุกสนานอยู่กับ “การเล่น” ดังนั้นการปรับปรุง “สนามเด็กเล่น” ในบ้านเราให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น และหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ควรพัฒนาอย่างจริงจังนั้น แม้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต
ที่มา : บทความ “Why playtime is key to raising successful children” โดย John Goodwin จาก World Economic Forum
บทความ “ทำไมสนามเด็กเล่นดีๆ ถึงไม่ฟรี ส่อง 5 สนามเด็กเล่นเมืองใหญ่ที่ดี ฟรีและเข้าถึงเด็กทุกคน” โดย ณัฐธนีย์ลิ้มวัฒนาพันธ์ และทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ จาก Mappa Learning
บทความ “เรื่องเล่นเรื่องใหญ่: โลกที่เปลี่ยนไปทำให้การเล่นของเด็กๆ สำคัญยิ่งขึ้น” โดย Advertorial Team จาก The Matter
เรื่อง : หทัยภัทร อินมีทรัพย์
ที่มา : https://www.tcdc.or.th/