ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว Netflix ได้นำรายการ Old Enough! เรียลิตี้โชว์จากญี่ปุ่นมาลงฉายพร้อมกันทั่วโลก รายการนี้เป็นรายการเก่าแก่จากญี่ปุ่นที่ฉายมาแล้วกว่า 30 ปี โดยรายการจะพาผู้ชมไปตามดูและเอาใจช่วยเด็ก ๆ อายุ 2-3 ขวบที่ต้องออกไปทำธุระให้กับพ่อแม่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อของที่ตลาด ไปรับเสื้อผ้าที่ร้านซักรีด นำของไปส่งญาติ ฯลฯ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเด็ก ๆ จะต้องเดินทางเพียงลำพัง บางครั้งก็ต้องเดินเท้าระยะทางเป็นกิโลฯ บางครั้งต้องข้ามถนน หรือบางครั้งก็ต้องขึ้นบันไดศาลเจ้าที่สูงชันกว่าร้อยขั้น ทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพเด็ก ๆ ทั้งเดินทั้งวิ่งอย่างมุ่งมั่นไปทั่วละแวกบ้าน
ภาพของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่เดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเองเหล่านี้ ทั้งที่ต้องข้ามถนนหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ อาจเป็นภาพที่หายากหรือแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยในสังคมไทย แต่นี่กลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นปกติใน “ญี่ปุ่น” อย่างที่ได้เห็นในรายการ
นอกเหนือจากการเป็นประเทศที่มีอาชญากรรมต่ำแล้ว เหตุผลที่เด็ก ๆ ญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย นั่นก็คือ “ความใส่ใจ” ในการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับเด็ก และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญให้กับอนาคตของชาติ
ออกแบบถนนให้เหล่าคนตัวจิ๋ว
เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะจึงมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้การจัดวางอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ค่อนข้างตั้งอยู่ชิดติดกันและจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้คุ้มค่าที่สุด ดังนั้นถนนหนทางของที่นี่จึงมีจุดตัดและทางแยกค่อนข้างมาก แต่กระนั้นสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการใช้ถนนกลับไม่ใช่ “รถยนต์” แต่เป็น “คนเดินเท้า”
ฮิโรโนริ คาโตะ ศาสตราจารย์ด้านการวางแผนการขนส่งจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า “ที่ญี่ปุ่น เด็ก ๆ จะเดินไปโรงเรียนใกล้บ้านด้วยตัวเขาเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ถนนและทางเดินจะถูกออกแบบให้เด็กสามารถเดินได้อย่างปลอดภัย”
และก็เป็นไปตามที่คาโตะกล่าวไว้ หากคุณมีโอกาสได้ลองเดินไปรอบ ๆ เมืองที่ญี่ปุ่น จะเห็นว่าแทบทุกแยกจะมีทางม้าลายและสัญญาณไฟจราจรที่ชัดเจน มีการกำหนดขอบเขตทางเท้าในทุกเส้นทาง รวมไปถึงทางเท้าส่วนใหญ่ที่จะไม่ทำเป็นทางยกระดับเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ๆ
นอกจากนี้ ที่ญี่ปุ่นยังมีการจัดทำโครงการเส้นทางปลอดภัยที่เกิดจากการร่วมมือกันของโรงเรียนต่าง ๆ และภาครัฐ โดยจัดให้มีการระบุเส้นทางที่เด็ก ๆ นักเรียนสามารถเดินมาโรงเรียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ระหว่างเส้นทางจะมีป้ายระบุเป็นระยะ ๆ และบริเวณทางม้าลายจะมีภาพวาดเท้าเล็ก ๆ เพื่อเตือนให้เด็ก ๆ หยุดรอก่อนจะข้ามถนน รวมไปถึงมีการปิดถนนบริเวณโรงเรียนในช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ต้องเดินไปโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยช่วงเวลาในการปิดถนนจะถูกระบุลงบนถนนอย่างชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการสัญจรด้วยรถยนต์ที่ทำให้เกิดอันตรายได้ในช่วงเวลานั้น
ในทางกฎหมายเองก็มีส่วนที่กำหนดให้การเดินทางของเด็ก ๆ ปลอดภัยมากขึ้น เช่น กฎหมายการจอดรถยนต์ที่ไม่อนุญาตให้มีการจอดรถยนต์ไว้ข้างทางหรือกีดขวางการเดินเท้า กฎหมายจำกัดความเร็วรถยนต์ในย่านชุมชนที่ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีการอบรมให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าเป็นหลักอีกด้วย
ออกแบบรถยนต์ให้คนเดินเท้า
อาจกล่าวได้ว่าทัศนวิสัยหลังพวงมาลัยของผู้ขับขี่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเลี่ยงอุบัติเหตุ ยิ่งมองเห็นได้กว้างและรอบด้านก็สามารถทำให้ท้องถนนปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับรถยนต์สมัยใหม่มักถูกออกแบบให้ตัวรถมีความสูงและกว้าง รวมถึงเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้ทัศนวิสัยของผู้ขับรถในมุมต่ำถูกบดบังไป ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ๆ ที่มีความสูงไม่มาก เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็นของผู้ขับขี่นั่นเอง
ด้วยคำนึงถึงปัญหานี้ ประเทศญี่ปุ่นจึงได้มีการคิดค้นรถยนต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “Kei Car” (อ่านว่า เคย์คาร์) ขึ้นตั้งแต่ปี 1949 Kei Car หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า keijidosha นี้ จัดเป็นรถยนต์น้ำหนักเบาพิเศษซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จนส่งผลให้ค่าน้ำหนักรถยนต์เฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 2,711 ปอนด์เมื่อเทียบกับรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาที่มีน้ำหนักเฉลี่ยถึง 4,156 ปอนด์จากสถิติในปี 2020 ที่ผ่านมา แต่เดิมรถยนต์ประเภทนี้เคยถูกกำหนดให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่เกิน 150 cc ความยาวไม่เกิน 2.8 เมตร และกว้างไม่เกิน 1 เมตร ก่อนที่จะมีการปรับขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น 660 cc ยาวไม่เกิน 3.4 เมตร และกว้างไม่เกิน 1.48 เมตรในปี 1998 และบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
รถยนต์ประเภทนี้มีน้ำหนักเบาและเล็ก ทำให้ผู้ขับสามารถมองเห็นถนนในมุมที่ต่ำลงกว่ารถยนต์ปกติได้ ทั้งยังไม่สามารถทำความเร็วได้มากนักจึงช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเด็ก ๆ ต้องใช้ถนนร่วมด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงข้อดีในจุดนี้ของ Kei Car จึงสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถชนิดนี้โดยการลดค่าภาษีรถยนต์ Kei Car มากกว่ารถยนต์ชนิดอื่น ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นใช้ Kei Car บนท้องถนนมากถึง 40% จากรถทั้งหมด
นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นยังมีการจัดตั้งโครงการทดสอบประเมินความปลอดภัยของรถยนต์ ด้วยหวังว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าซึ่ง 60% เสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ การทดสอบนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2003 โดยเป็นการทดสอบเพื่อหาว่า พาหนะแบบใดมีโอกาสสร้างความเสียหายต่อร่างกายส่วนคอขึ้นไปได้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในกลุ่มเด็กเล็ก โครงการนี้มีส่วนกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายหันมาใส่ใจการออกแบบส่วนหน้าของรถยนต์ให้มีความลาดเอียงมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการลดอัตราการเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังมีการบังคับใช้กฎหมายให้รถยนต์ทุกคันต้องติดตั้งระบบ “เบรกอัตโนมัติ” เมื่อตรวจจับคนเดินเท้าได้ในเดือนพฤศจิกายน 2021 โดยนับเป็นประเทศแรกของโลกที่บังคับใช้กฎหมายนี้ และรวมไปถึงระบบตรวจจับจักรยานที่จะถูกบังคับใช้ภายในปี 2024 อีกด้วย
ออกแบบพื้นที่
เพราะการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กมากกว่าในห้องเรียนคือ “การเล่น” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดพื้นที่สำหรับการลงมือทำ การเปรอะเปื้อน และการสัมผัสธรรมชาติให้กับเด็ก ๆ แม้ญี่ปุ่นจะมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ แต่ด้วยความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการสร้าง “สนามเด็กเล่น” ขึ้นในโตเกียวเป็นครั้งแรกในปี 1971 และเพิ่มมากขึ้นเป็น 40 แห่งรอบเมืองโตเกียวในปัจจุบัน สนามเด็กเล่นเหล่านี้ได้รับการดูแลโดยพนักงานประจำที่สนับสนุนโดยรัฐบาล พวกเขามีหน้าที่อำนายความสะดวกในการเล่นให้เด็ก ๆ ซึ่งมาใช้บริการได้ฟรี และจะคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัย และตรวจสอบอุปกรณ์ รวมถึงพื้นที่ให้สามารถใช้การได้ดีอยู่เสมอ
สนามเด็กเล่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีเครื่องเล่นเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับ “การเปื้อน” ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นดินสำหรับปั้นหรือเดินย่ำ แอ่งน้ำสำหรับทำโคลน ต้นไม้ให้ปีนป่าย และที่โล่งสำหรับก่อกองไฟ ฯลฯ เด็ก ๆ จึงสามารถเติมเต็มจินตนาการและเล่นสนุกกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในสนามเด็กเล่นของเมืองขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มักถูก “ตกแต่งอย่างสวยงาม” จนหลงลืมไปว่าความเลอะเทอะที่เกิดจากการเล่นของเด็ก ๆ ก็สวยงามไม่แพ้กัน
นอกจากพื้นที่สำหรับเล่นแล้ว สังคมเมืองในญี่ปุ่นยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ใช้งานแบบผสมผสานซึ่งจะมีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้าขนาดเล็ก และสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งทำให้เด็ก ๆ มีความคุ้นเคยและสามารถออกไปทำธุระง่าย ๆ ในละแวกบ้านได้อย่างครบวงจร อี. โอเวน เวย์กูด (E. Owen Waygood) ศาสตราจารย์จาก Montréal Polytechnique ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการเดินทางของเด็กญี่ปุ่นกล่าวว่า “พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเด็ก ๆ ควรที่จะออกไปเดินในละแวกบ้านได้ด้วยตัวเอง และพวกเขาก็สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ เพื่อที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เมืองในญี่ปุ่นจะถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า ทุก ๆ พื้นที่คือหมู่บ้านที่ต้องมีทั้งบ้านและร้านค้า ซึ่งหมายถึงการที่เด็ก ๆ มีจุดหมายที่จะไป และเป็นจุดหมายที่พวกเขาสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเอง”
ด้วยการออกแบบพื้นที่ให้ทุก ๆ ที่คือหมู่บ้านนี้เอง ยังทำให้ผู้คนในบริเวณเดียวกันรู้สึกสนิทสนมและเพิ่มระดับการพึ่งพาอาศัยกันเองโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะกับบ้านที่มีเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ในละแวกนั้นก็จะรู้สึกเอ็นดูเป็นพิเศษและช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ ส่งต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมที่จะต้องคอยช่วยเหลือเด็ก ๆ ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็ช่วยให้ผู้ปกครองสบายใจได้ว่าแม้เด็ก ๆ จะออกไปตามลำพัง แต่ก็จะมีคนช่วยดูแลให้อยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่เห็นได้ในรายการ Old Enough! ที่เพื่อนบ้านหรือเจ้าของร้านค้าในละแวกเดียวกันมักจะมาช่วยเด็ก ๆ ข้ามถนน ช่วยตอบคำถาม บอกทาง หรือแบ่งปันขนมให้เด็ก ๆ นั่นเอง
การออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับเด็ก ทำให้เราเห็นว่าการสร้าง “สภาพแวดล้อมที่ดี” จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการและเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีความใส่ใจและพยายามส่งเสริมเด็ก ๆ ผ่านการออกแบบ และยังได้รับเลือกจาก UNICEF ให้เป็นประเทศหนึ่งในโครงการ Child-Friendly Cities and Communities Initiative (CFCI) หรือการเป็นเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรกับเด็กในปี 2021 เพื่อร่วมสร้างบรรทัดฐานและแนวทางในการเป็นเมืองสำหรับเด็กให้กับประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ที่มา : บทความ “How Japan Built Cities Where You Could Send Your Toddler on an Errand” โดย HENRY GRABAR จาก slate.com
บทความ “Lessons from Tokyo: Designing Child Friendly Neighbourhoods ” โดย Natalia Krysiak จาก citiesforplay.com
บทความ “Japan’s ‘Old Enough!’ Sparks Questions About Car-Dependent US Childhoods” โดย Kea Wilson จาก usa.streetsblog.org
บทความ “Behind the Independence of Japanese Kids Lies a Culture of Community” โดย Pallavi Aiyar จาก thewire.in
บทความ “Japan’s Old Enough and Australia’s Bluey remind us our kids are no longer ‘free range’ – but we can remake our neighbourhoods” โดย Rebecca Clements, Elizabeth Taylor และ Hulya Gilbert จาก theconversation.com
หนังสือ “Designing Child-Friendly High Density Neighbourhoods” จาก citiesforplay.com
บทความ “The Child Friendly Cities Initiative in Japan” จาก unicef.or.jp
บทความ “Kei car” จาก en.wikipedia.org
เรื่อง : ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง
อ้างอิงที่มา : https://www.tcdc.or.th/